สระแก้วจัดประชุมวิชาการ "เครือข่ายหัวใจบูรพา" พัฒนาความรู้และระบบบริการเชื่อมโยงทั้งภาค




สาธารณสุขนิเทศก์ เขต 6  เผยปี 61 คนไทยตายด้วย “โรคหัวใจและหลอดเลือด”  2 หมื่นกว่าคน เฉลี่ยชั่วโมงละ 2 คน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จังหวัดสระแก้ว เป็นเจ้าภาพจัดประชุมวิชาการ "เครือข่ายหัวใจบูรพา" หวังแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พัฒนาความรู้โรคหัวใจและหลอดเลือด แก่บุคลากรทางการแพทย์ 8 จังหวัดภาคตะวันออก

วันนี้( 16 สค.62) ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดสระแก้ว นายแพทย์อภิชาติ  รอดสม สาธารณสุขนิเทศก์ เขต 6 เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการ "เครือข่ายหัวใจบูรพา" โดยมี แพทย์หญิงอรรัตน์ จันทร์เพ็ญ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว นายแพทย์ภูวดล กิตติวัฒนาสาร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว  นายแพทย์วรวิทย์ ตันติศิริวัฒน์ ประธาน Service Plan สาขาโรคหัวใจ เขตสุขภาพที่ 6 พร้อมด้วยแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ จาก 8 จังหวัดภาคตะวันออก จำนวน 500 คน ร่วมต้อนรับ






นายแพทย์อภิชาติ  รอดสม สาธารณสุขนิเทศก์ เขต 6 เปิดเผยว่า ปัญหา ”โรคหัวใจ” เป็นภัยเงียบที่คุกคามสุขภาพความเป็นอยู่ของคนในยุคปัจจุบัน โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่าในปี 2558 กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของโลก โดยคิดเป็นร้อยละ 31  ของอัตราตายทั่วโลก ซึ่งสถิติล่าสุดของกระทรวงสาธารณสุข เมื่อเดือนกันยายน 2561 พบว่ามีผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด 432,943 คน เสียชีวิต 20,855 คนหรือ ชั่วโมงละ 2 คน และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ จากการใช้ชีวิตประจำวัน  ทั้งอาหารการกินและขาดการออกกำลังกาย ทำให้เป็นสาเหตุของการสูญเสียของประชากรไทยวัยทำงาน ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชากร เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ จากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ส่งผลกระทบทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว สังคม และประเทศชาติ ในขณะที่การรักษาพยาบาล โรคหัวใจก็มีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงและมีข้อจำกัดบางอย่างที่ต้องทำในโรงพยาบาลขนาดใหญ่หรือโรงพยาบาลศูนย์เท่านั้น  การที่จะให้ประชาชาชนได้รับการบริการที่ดีและทั่วถึงนั้น จำเป็นต้องมีเครือข่ายบริการที่มีประสิทธิภาพ มีการประสานงานที่ดี




สาธารณสุขนิเทศก์ เขต 6 กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 6 และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 6 ระยอง ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาเครือข่ายการดูแลโรคหัวใจของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขใน 8 จังหวัดภาคตะวันออก ภายใต้ชื่อ "เครือข่ายหัวใจบูรพา"  เพื่อพัฒนาระบบบริการโรคหัวใจเชื่อมโยงงานสู่สถานบริการในเครือข่าย  สามารถให้บริการผู้ป่วยโรคหัวใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ พัฒนาศักยภาพการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจอย่างต่อเนื่อง ลงไปจนถึงระดับชุมชนให้ครอบคลุมมากขึ้น ทั้งนี้ "เครือข่ายหัวใจบูรพา" ได้จัดประชุมวิชาการเป็นประจำทุกปี เพื่อให้แพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์  ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทบทวนและพัฒนาความรู้เกี่ยวกับโรคหัวใจและหลอดเลือด ความรู้ใหม่ๆ ให้มีความเข้าใจตรงกัน  นำไปสู่ความร่วมมือกันมากขึ้น ซึ่งในปี 2562 จังหวัดสระแก้วเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมดังกล่าวซึ่งเป็นครั้งที่ 7 โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ นพ.ณัฐพันธ์  รัตนจรัสกุล ,ผศ. นพ. สมเกียรติ  แสงวัฒนาโรจน์ ,รศ.นพ.ศรัณย์  ควรประเสริฐ ,นพ.ธนวัฒน์  เบญจานุวัตรา ,นพ.ธันวา   พิทักษ์สุธีพงศ์ , พว.อุษณีย์  เปรมสุริยา ,นพ.สิทธิลักษณ์ วงษ์วันทนีย์ เป็นต้น



นายแพทย์ วรวิทย์ ตันติศิริวัฒน์ ประธาน Service Plan สาขาโรคหัวใจ เขตสุขภาพที่ 6 เปิดเผยว่า โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นการเรียกโดยภาพรวม ในความเป็นจริง มีโรคและสาเหตุของการเกิดโรคหัวใจที่แตกต่างกันออกไป อาทิ โรคหัวใจขาดเลือด ,โรคลิ้นหัวใจผิดปกติ ,โรคหลอดเลือดแดงโป่งพอง เป็นต้น ซึ่งโรคหัวใจและหลอดเลือดเหล่านี้ มีความสัมพันธ์กับสาเหตุของการเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตได้ โดยปัจจัยเสี่ยงสำคัญได้แก่ อายุที่มากขึ้น การสูบบุหรี่จัด ภาวะไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และการไม่ออกกำลังกายเป็นประจำ ทำให้มีการตีบตันในหลอดเลือด ทำให้มีอัตราตายสูง ถ้าเกิดอาการแน่นหน้าอกอย่านิ่งนอนใจ ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาทันทีภายใน 2 ชั่วโมง เพื่อจะได้รักษาได้ทันเวลา ซึ่งการวินิจฉัย การให้การรักษา การส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงกว่าด้วยความรวดเร็ว และเครือข่าย ก็จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยกลุ่มนี้ลง ทั้งนี้เขตสุขภาพที่ 6 เน้นทำงานเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงกันตั้งแต่ รพ.สต. โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลศูนย์ที่เป็นแม่ข่ายหลัก คือ โรงพยาบาลศูนย์ชลบุรีและโรงพยาบาลพระปกเกล้าจันทบุรี


นายแพทย์ภูวดล กิตติวัฒนาสาร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว  เปิดเผยว่า โรงพยาบาลมีระบบเครือข่ายการส่งต่อผู้ป่วยโรงพยาบาลชุมชน มายังโรงพยาบาลจังหวัด  โดยมีอายุรแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจ 1 คน ร่วมกับอายุรแพทย์ทั่วไปอีก 8 คน พร้อมให้การดูแลผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีศูนย์ตรวจพิเศษโรคหัวใจ เช่น การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง การตรวจสมรรถภาพของหัวใจด้วยการวิ่งสายพาน และการตรวจบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชั่วโมง และอีกไม่นานจะเปิด หอผู้ป่วยกึ่งวิกฤตที่ให้การดูแลผู้ป่วยกลุ่มโรคหัวใจโดยเฉพาะ ตลอดจนเพิ่มศักยภาพระบบการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลศูนย์เพื่อให้ประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนที่มารับบริการ

ความคิดเห็น