เรื่องราวการของ "ต้นพิศวง" ที่ปางสีดา




ประมาณปี 2540 ที่ผมหลงป่าปางสีดา (แถววังจระเข้) ในขณะที่กำลังพักเอาแรงหลังจากเหนื่อยล้ามาทั้งวัน ที่ใต้กอไผ่มีพันธุ์ไม้ประหลาดที่ผมไม่เคยพบมาก่อนชนิดหนึ่ง ลักษณะคล้ายเจลลี่สีส้ม มีหนวด 3 หนวดยาวออกมาทางด้านบน ผมหยิบเอากล้องฟิล์มมาถ่ายไปหลายรูป  แต่เนื่องจากอากาศชื้น ฟิล์มติดกันแน่น กรอฟิล์มไม่ได้จนขาดในที่สุด ผมเลยอดได้ภาพนี้มา หลังจากนั้นก็ไม่ได้เห็นมันอีกเลย

ต่อมาในขณะที่อาจารย์สินธุยศ จันทรสาขา และหัวหน้ามนตรี บัวแก้ว หน.อช.ปางสีดา(ในขณะนั้น) ได้เดินป่าเข้าไปลานหินดาด แต่ก็หลง...... แล้วก็ไปพบไอ้เจ้าต้นพิศวง พร้อมทั้งถ่ายภาพมาลงหนังสือผีเสื้อ (เล่มแรก) ได้


ปี 2551 (ข้อมูลจากภาพถ่ายเมื่อ 7 มิย.51)มีเจ้าหน้าที่ปางสีดาท่านหนึ่ง บอกว่าเจอต้นพิศวงอยู่ชายป่า เป็นพิศวงสีดำ 2-3 ต้น ผมเลยเอากล้องดิจิตอลไปถ่ายมาหลายภาพ




พอมาถึงปี 2552 (วันที่ 7 มิย.52) ไม่น่าเชื่อว่าเป็นวันเดียวเดือนเดียวกับปีที่แล้ว  ผมมีโอกาสถ่ายภาพผีเสื้อที่เดิม ก็เลยเดินหาอีกแต่ไม่เจอ  จนกระทั่งมีน้องหนึ่งไปเจอผมเลยรีบเข้าไปถ่ายภาพ ซึ่งมีอยู่แค่ต้นเดียว ดอกยังตูมๆ อยู่ เป็น"พิศวงสีดำ"


ต้นพิศวง (Family Thismiaceae) เป็นพืชกินซากขนาดเล็ก ทางวิชาการจัดให้อยู่ในสกุล Thismia เป็นพืชมีดอกในกลุ่ม พืชใบเลี้ยงเดี่ยว อดีตเคยถูกจัดไว้ในวงศ์หญ้าข้าวก่ำ (Family Burmaniaceae) ทว่าปัจจุบันแยกออกมาเป็น วงศ์พิศวง (Family Thismiaceae) ซึ่งทุกชนิดในวงศ์นี้เป็นพืชกินซากขนาดเล็ก พืชในวงศ์นี้ทั่วโลกมีอยู่ 10 สกุล ราว 25 ชนิด โดยส่วนใหญ่พบเฉพาะป่าฝนเขตร้อน ยกเว้นทวีปแอฟริกาและยุโรปที่ยังไม่มีรายงานการค้นพบ

สำหรับประเทศไทยพบ 1 สกุล จำนวน 2 ชนิด ได้แก่ Thismia javanica (J.J. Smith) กับ Thismia mirabilis (K. Larsen) ชนิดนี้ค่อนข้างพบได้ยากกว่า เพราะมันเป็นพืชเฉพาะถิ่นของบ้านเรา

ชนิดแรก มีชื่อเรียกตามหนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทยว่า พิศวงรยางค์ Thismia javanica (J.J. Smith) ดอกสีส้มอ่อน มีเส้นลายสีแดงพาดตามยาวโดยรอบ มีลักษณะงดงามแปลกตายิ่ง ซึ่งชนิดนี้เป็นพันธุ์ไม้ต้นแบบ พบครั้งแรกบนเกาะชวา อินโดนีเซีย

สำหรับในประเทศไทยมีรายงานการพบอยู่หลายพื้นที่ตั้งแต่ใต้สุดจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา–บาลา อุทยานฯ เขาสก เขตรักษาพันธุ์ฯ คลองนาคา อุทยานฯ ไทรโยค อุทยานฯ เขาใหญ่ และผมได้พบอีกหลายแหล่ง คือ อุทยานฯ ปางสีดา อุทยานฯ ศรีพังงา อุทยานฯ ภูจอง–นายอย เขตรักษาพันธุ์ฯ ยอดโดม

ส่วนพิศวงชนิด Thismia mirabilis (K. Larsen) เป็นพันธุ์ไม้เฉพาะถิ่นของประเทศไทย พบได้ค่อนข้างยากกว่าชนิดแรก และมีลักษณะแปลกกว่าดอกไม้ทั่วไป ดอกมีสีดำแกมฟ้า รูปร่างคล้ายคนโท พบขึ้นอยู่ริมลำธารที่มีธาตุอาหารค่อนข้างสมบูรณ์ สำหรับชื่อของชนิดนี้ในภาษลาติน mirabilis แปลออกมาได้ว่า มหัศจรรย์ ซึ่งก็น่าจะเป็นความจริงดั่งชื่อ ซึ่งมีรายงานการพบครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2506 ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ใช้เป็นพันธุ์ไม้ต้นแบบในการอธิบายลักษณะและตั้งชื่อพฤกษศาสตร์ของพืชชนิดนี้ โดยพิศวงสีดำชนิดนี้มีรายงานการพบ 2 ที่เท่านั้น คืออุทยานฯ เขาใหญ่ และบนเกาะช้าง จ. ตราด

ส่วนที่อุทยานแห่งชาติปางสีดา ก็มีรายงานค้นพบต้นพิศวงทั้ง 2 ชนิด

...............................................................................................................

ภาพต้นพิศวง (สีส้ม) จากเวปบอร์ด กลุ่มเรารักษ์ป่า

ภาพต้นพิศวง (สีดำ) ถ่ายได้เมื่อปี 2551และ 2552 ที่อุทยานแห่งชาติปางสีดา โดย ธีระ แสงสุรเดช สมาคมรักษ์ปางสีดา

ความคิดเห็น