ใครจะคิดว่าสระแก้วปลูก "เก็กฮวย" แล้วจะออกดอกได้ ใช้เวลา 3 ปีกว่าจะเป็นทุ่งดอกเก็กฮวย





หลังจากที่ผมลงภาพทุ่งดอกเก็กฮวยสระแก้ว ไปเมื่อเร็วๆ นี้ ได้เกิดกระแสแชร์ในโลกโซเชียลและมีการพูดถึงกันมากมาย ทั้งดีใจ สนใจ สุขใจ เศร้าใจ แต่อีกมุมหนึ่งอยากให้รู้ว่า

"ใครจะคิดว่าสระแก้วปลูก "เก็กฮวย" แล้วจะออกดอกได้ "
"ใช้เวลา 3 ปี บ่มเพาะ เรียนรู้ จนมาเป็นทุ่งดอกเก็กฮวยเล็กๆ"
"อยากให้ทุ่งดอกเก็กฮวยนำมาสู่การท่องเที่ยวชุมชนของคนในพื้นที่"




ผมคุยกับคุณรัตนา จันทะหนู เจ้าหน้าที่ประจำโครงการศึกษาและพัฒนาสมุนไพรเพื่อการวิจัย สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ผู้ปลูกดอกเก็กฮวยคนแรก ที่ บ้านทับทิมสยาม05 อ.คลองหาด จ.สระแก้ว คนเล็กๆแต่คิดงานใหญ่เพื่อชุมชนทับทิมสยาม05


"พี่รู้ไหม กว่าจะมาเป็นดอกสีเหลืองให้เราได้ชมกัน แม้ว่าพื้นที่จะไม่มากนัก แต่หนูใช้เวลาปลูกและขยายพันธุ์มานานถึง 3 ปี ใครจะรู้ว่าสระแก้วบ้านเราจะปลูกดอกเก็กฮวย ซึ่งเป็นพืชเมืองหนาวได้"







รัตนา จันทะหนู จนท.โครงการฯ เปิดเผยว่า จากนโยบายของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ "ทำอย่างไรให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น" เมื่อปี 2558 หรือเมื่อ 3 ปีก่อน สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ นำต้นกล้าเก็กฮวยเล็กๆ สูงประมาณ 5 ซม.มาให้ในสภาพที่ต้นบอบช้ำมาก ต้องนำมาประคบประหงมอยู่นานจนฟื้น ปีแรกนำมาปลูกลงดินพื้นที่ขนาด 10 ตารางเมตร ไม่น่าเชื่อว่าต้นสมบูรณ์ มีดอกสีเหลือง ซึ่งตนเองก็ไม่เคยเห็นมาก่อนเหมือนกัน

พอปีที่ 2 ก็นำต้นพันธุ์จากปีแรกมาขยายพื้นที่ปลูกเป็น 50 ตร.เมตร เริ่มมีคนรู้จักดอกเก็กฮวยแล้วมาถ่ายรูปกัน จนมาปีนี้ (2561) ซึ่งเป็นปีที่ 3 ได้ขยายพื้นที่ปลูกมากขึ้นเป็น 3 งาน ก่อนที่คุณธีระ แสงสุรเดช จะนำมาประชาสัมพันธ์ผ่านเฟสบุ๊ค ทำให้เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง











ดอกเก็กฮวย เป็นพืชเมืองหนาว ส่วนใหญ่ปลูกทางภาคเหนือ จะออกดอกช่วงเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ ถ้าดูแลต้นให้สมบูรณ์ก็จะมีตาดอกออกมาเรื่อยๆ ดอกจะหมดประมาณเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ขยายพันธุ์จากการใช้ยอดอ่อนหรือใช้ไหล(คล้ายกับต้นสตรอเบอรี่) นำมาใส่ถุงดูแล 6 เดือน จากนั้นจึงนำมาลงแปลงปลูก ซึ่งการขยายพันธุ์ไป100ถุง จะได้ต้นที่ติดประมาณ 60 ต้นเท่านั้น







"เก็กฮวย เป็นพืชเมืองหนาวออกดอกปีละครั้งเท่านั้น ครั้งแรกได้มา 2 สายพันธุ์คือ พันธุ์ดอกขาว กับพันธุ์ดอกเหลือง แต่สุดท้าย "พันธุ์ดอกเหลือง" เหมาะกับสภาพภูมิอากาศบ้านเรามากกว่า ขนาดนำต้นพันธุ์ไปปลูกอำเภอใกล้เคียงกันก็ยังไม่ออกดอก สภาพอากาศจึงสำคัญมากสำหรับต้นเก็กฮวย



หลังจากประชาชนทราบข่าว #ทุ่งดอกเก็กฮวยสระแก้ว ทำให้พากันเดินทางมาเที่ยวจำนวนมาก บ้างก็ชื่นชม บ้างก็ต่อว่าว่าพื้นที่น้อย รัตนา จันทะหนู เจ้าหน้าที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ บอกว่า "รู้สึกไม่ดีที่บางคนบอกว่าพื้นที่น้อย ไม่อลังการอย่างที่คิด แต่ไม่ท้อ ปีต่อไปจะร่วมกับชาวบ้านทำให้ใหญ่กว่าเดิม" พร้อมทั้งทิ้งท้ายไว้น่าสนใจว่า

"ชาวบ้านตั้งใจปลูกเก็กฮวยกันมาก ไม่ต่างจากสมุนไพรตัวอื่นๆ มานานกว่า 9 ปี ปีนี้ดอกเก็กฮวยเป็นแปลงทดลองปลูกปีที่ 3 เพื่อขยายพันธุ์สู่ปีต่อไปในพื้นที่ใหญ่กว่าเดิม อยากให้ทุกคนให้กำลังใจชาวบ้าน ที่จะได้มีกำลังใจ มีรายได้จากการท่องเที่ยวชุมชน เพราะบ้านทับทิมสยาม05 ได้รางวัลชนะเลิศ 1 ใน 2 หมู่บ้านโอท็อปนวัติวิถีดีเด่นของจังหวัดสระแก้ว จะได้สร้างโอกาส สร้างอนาคตให้คนในชุมชน"

ธีระ แสงสุรเดช
11 ธันวาคม 2561

ขอบคุณภาพ ยศภัทร เลยท้าว ,รัตนา จันทะหนู โครงการศึกษาและพัฒนาสมุนไพรเพื่อการวิจัย สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์








ความคิดเห็น