วันนี้(6 กพ. 61) นายภูษิต สมจิตต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อแข่งขันทักษะการกู้ชีพ ณ จุดเกิดเหตุ เครือข่ายระบบการแพทย์ฉุกเฉิน Sa-kaeo EMS Rally จังหวัดสระแก้ว ครั้งที่ 6 ณ อาคารอเนกประสงค์ เทศบาลเมืองวังน้ำเย็น โดยมี นพ.อภิรัต กตัญญุตานนท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว กล่าวรายงาน นายปราชญา อุ่นเพชรวรากร นายอำเภอวังน้ำเย็น หน.สนง.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด นายกเทศมนตรีเมืองวังน้ำเย็น ผอ.รพ.วังน้ำเย็น เครือข่ายกู้ชีพกู้ภัยจากทุกอำเภอ ร่วมต้อนรับ
นายภูษิต สมจิตต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว เปิดเผยว่า การดำเนินงานระบบการแพทย์ฉุกเฉินให้ครอบคลุมและทันเหตุการณ์นั้น จำเป็นต้องสร้างเครือข่ายกู้ชีพระหว่างหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข มูลนิธิ สมาคม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เนื่องจากองค์กรดังกล่าวมีทั้งบุคลากรและงบประมาณ ซึ่งมีศักยภาพที่จะจัดระบบการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่ที่รับผิดชอบ อย่างไรก็ตามการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บหรือป่วยฉุกเฉินนั้น ทีมปฏิบัติการกู้ชีพจำเป็นต้องมีทักษะการกู้ชีพที่ได้มาตรฐาน สามารถประเมินสถานการณ์ ให้การช่วยเหลือ ณ จุดเกิดเหตุ และเคลื่อนย้ายผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง และเหมาะสม เป้าหมายเพื่อลดความพิการ และเสียชีวิตของผู้บาดเจ็บหรือผู้ป่วยฉุกเฉิน และที่สำคัญจะต้องลดภาวะแทรกซ้อนจากการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บที่ไม่เหมาะสม อาสาสมัครกู้ชีพจึงต้องพัฒนาศักยภาพของตนเอง สามารถปฏิบัติงานช่วยเหลือผู้บาดเจ็บและผู้ป่วยฉุกเฉิน ณ จุดเกิดเหตุได้อย่างถูกต้อง และเหมาะสม มีการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์อาสาสมัครกู้ชีพให้ดีขึ้น มีความรักความสามัคคี รวมทั้งสามารถสร้างภาคีเครือข่ายระบบการแพทย์ฉุกเฉินของจังหวัดสระแก้วได้อย่างเข้มแข็ง และยั่งยืนตลอดไป และที่สำคัญที่สุดคือ "จิตใจ" ที่จะต้องร่วมกันสร้างความดีโดยอย่าให้ด้านมืดเข้ามาครอบคลุม ซึ่งด้านจิตในไม่มีการสอน แต่เป็นคุณธรรม จริยธรรม ที่เมื่ออาสาสมัครสวมชุดกู้ภัยแล้วจำเป็นต้องมีสิ่งดี
นพ.อภิรัต กตัญญุตานนท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว เปิดเผยว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว มีภารกิจในการบริหารจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉิน กำหนดมาตรฐาน พัฒนาบุคลากร และสร้างภาคีเครือข่ายระหว่างหน่วยงานของสาธารณสุข มูลนิธิ สมาคม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้บริการรับ-ส่งผู้บาดเจ็บและผู้ป่วยฉุกเฉิน ณ จุดเกิดเหตุ ส่งโรงพยาบาล ตลอด 24 ชั่วโมง ดังนั้นเพื่อเพิ่มศักยภาพของภาคีเครือข่ายระบบการแพทย์ฉุกเฉินจังหวัดสระแก้วให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงได้ร่วมกับเครือข่ายการแพทย์ฉุกเฉินวังน้ำเย็น และวังสมบูรณ์ จัดการแข่งขันทักษะการกู้ชีพ ณ จุดเกิดเหตุ เครือข่ายระบบการแพทย์ฉุกเฉินจังหวัดสระแก้ว มีทีมกู้ชีพที่เข้าร่วมแข่งขันประกอบด้วย โรงพยาบาล มูลนิธิ สมาคม และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 6 ทีม คือ 1.เครือข่ายเมืองสระแก้ว-อบจ.สระแก้ว 2.เครือข่ายตาพระยา-โคกสูง 3. เครือข่ายคลองหาด-เขาฉกรรจ์ 4. เครือข่ายวัฒนานคร-รพ.จิตเวชฯ 5. เครือข่ายอรัญประเทศ-รพ.ค่ายสุรสิงหนาท และ 6. เครือข่ายวังน้ำเย็น-วังสมบูรณ์ โดยมีฐานวิชาการ จำนวน 6 ฐาน ดังนี้ ฐานที่ 1 ภาวะฉุกเฉินทางจิตเวช ฐานที่ 2 ภาวะฉุกเฉินทางสูติกรรม ฐานที่ 3 อุบัติเหตุหมู่ ฐานที่ 4 ภาวะฉุกเฉินทางอายุรกรรม ฐานที่ 5 ภาวะฉุกเฉินในเด็ก และฐานที่ 6 การช่วยเหลือผู้บาดเจ็บก่อนถึงโรงพยาบาล มีสมาชิกเครือข่ายกู้ชีพจังหวัดสระแก้วเข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 500 คน
ซึ่งการแข่งขันทักษะการกู้ชีพ ณ จุดเกิดเหตุ จะช่วยพัฒนาทักษะของอาสาสมัครกู้ชีพ กู้ภัย ให้มีความรู้ในการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บและผู้ป่วยฉุกเฉินได้อย่างมีประสิทธิภาพและได้มาตรฐาน เพื่อคัดเลือกตัวแทนทีมกู้ชีพของจังหวัดสระแก้ว ไปร่วมแข่งขันทักษะกู้ชีพระดับเขต และยังเพื่อสร้างความสามัคคีและเปิดโอกาสให้อาสาสมัครกู้ชีพในเขตจังหวัดสระแก้ว มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการปฏิบัติงานการแพทย์ฉุกเฉินอีกด้วย
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น